หลักการบำบัดน้ำเสียโดยการทำให้เจือจาง (Dilution)
หลักการบำบัดน้ำเสียโดยการทำให้เจือจาง (Dilution) ตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ "น้ำดีไล่น้ำเสีย" โดยใช้หลักการตามธรรมชาติแห่งแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow)
การใช้น้ำคุณภาพดีมาช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสียหรือที่เรียกกันว่า "น้ำดีไล่น้ำเสีย" นั้น ได้แก่ การใช้น้ำที่มีคุณภาพดีช่วยผลักดันน้ำเน่าเสียออกไปและช่วยให้น้ำเน่าเสียมีสภาพเจือจางลง ทั้งนี้โดยรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา หรือจากแหล่งน้ำภายนอกส่งไปตามคลองต่างๆ เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองแสนแสบ คลองเทเวศร์ หรือคลองบางลำภู ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งกระแสน้ำจะไหลแผ่กระจายขยายไปตามคลองซอยที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่ง ดังนั้นเมื่อการกำหนดดวงรอบเกี่ยวกับการไหลของน้ำไปตามคลองต่างๆ นับแต่ปากคลองที่น้ำไหลเข้ามาจนถึงปลายคลองที่น้ำไหลออกได้อย่างเหมาะสม โดยที่น้ำสามารถไหลเวียนไปตามลำคลองได้ตลอดแล้ว ย่อมสามารถเจือจางน้ำเน่าเสียและชักพาสิ่งโสโครก ซึ่งจะเป็นวิธีการช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสียในคลองต่างๆ ตอนช่วงฤดูแล้งได้อย่างดี
เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีไปทอดพระเนตรสภาพน้ำเน่าเสียตามคลองต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครที่บริเวณประตูระบายน้ำปากคลองเทเวศร์ คลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว ซึ่งในครั้งนั้นได้พระราชทานพระราชดำริว่า
การจัดระบบควบคุมระดับน้ำในคลองสายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดระบบระบายน้ำในกรุงเทพมหานครนั้น สมควรวางระบบให้ถูกต้องตามสภาพการณ์และลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งควรแข่งออกเป็น 2 แผนด้วยกัน คือแผนสำหรับใช้กับในฤดูฝนหรือในฤดูน้ำมากนี้ ก็เพื่อประโยชน์ในการป้องกันน้ำท่วมและเพื่อบรรเทาอุทกภัยเป็นสำคัญแต่แผนกระบายน้ำในฤดูแล้งนั้นก็ต้องจัดอีกแบบหนึ่งต่างกันไป เพื่อการกำจัดหรือไล่น้ำเน่าเสียออกจากคลองดังกล่าวเป็นหลัก ซึ่งทั้งสองระบบนี้ควรจะพิจารณาถึงวิธีการระบายน้ำ โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกให้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการควบคุมระดับน้ำตามลำคลองเหล่านี้จากแนวพระราชดำริดังกล่าวจึงบังเกิดกรรมวิธีในการบำบัดน้ำเสีย 2 ประการตามแนวพระราชดำริ "น้ำดีไล่น้ำเสีย" คือ
วิธีที่หนึ่ง
ให้เปิดประตูอาคารควบคุมน้ำรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงจังหวะน้ำขึ้น และระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนระยะน้ำลง ซึ่งมีผลทำให้น้ำตามลำคลองมีโอกาสไหลถ่ายเทกันไปมามากขึ้นกว่าเดิม เกิดมีการหมุนเวียนของน้ำที่มีสภาพเน่าเสีย กลิ่นเหม็น กลายเป็นน้ำที่มีคุณภาพดีขึ้น
วิธีที่สอง
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีไปทอดพระเนครที่บริเวณปากคลองเปรมประชากร ตำบลบางกระสั้น อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งเลียบคลองเปรมประชากร ตลอดช่วงคลองตอนบนถึงคลองรังสิต กระทั่งถึงปากคลองวัดหลักสี่เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสีย ว่า คลองเปรมประชากรช่วงตอนล่างเป็นคลองสายหนึ่งที่สามารถรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปช่วยบรรเทาน้ำเสีย โดยส่งกระจายไปตามคลองต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร จึงควรขุดลอกคลองนี้พร้อมกำจัดวัชพืชเพื่อให้เป็นคลองสายหลักในการผันน้ำคุณภาพดีไปช่วยบรรเทาให้น้ำเสียให้เจือจางลง ให้หาวิธีรับน้ำเข้าคลองเปรมประชากรตอนบนเป็นปริมาณมากภายในเวลาอันรวดเร็วเพื่ออัดเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้นจะได้สามารถกระจายน้ำเข้าทุ่งบางไทร-บางปะอิน สำหรับใช้เพาะปลูกอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตามจะต้องดำเนินการขุดลอกหนองน้ำธรรมชาติไปพร้อมกัน จะได้สามารถเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ สำหรับเส้นทางน้ำที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเส้นอื่นๆ เช่น คลองเชียงรากน้อยนั้น ต้องรีบรับน้ำเข้ามาเมื่อน้ำขึ้นและปิดประตูบังคับน้ำไม่ให้ไหลย้อนกลับเมื่อน้ำลง ทั้งนี้เพื่อเก็บกักน้ำคลองเปรมประชากรตอนบนในลักษณะ "อ่างเก็บน้ำ" เพื่อใช้ผลักดันน้ำเน่าเสียในคลองเปรมประชากรตอนล่างต่อไป
แนวพระราชดำริสองประการนี้ แสดงถึงพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าทรงเชื่ยวชาญในด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ในเรื่องนี้ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยที่ประจำการในต่างประเทศ 77 นาย เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2538 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานนั้น ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า Notorious Problem Ecology ของกรุงเทพฯ ที่เราก็ต้องการแก้ไขมาตั้งเท่าไร 8-9 ปี แล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำ เพิ่งมาทำเอาเมื่อปีที่แล้ว คือว่า เรามีกำลังที่ได้มาโดยเปล่า ฟรี ไม่ต้องใช้ไบโอโลจิคอลซีสเต็ม (Biological System) ก็มีพลังของแสงอาทิตย์ พลังของพระอาทิตย์กับพระจันทร์ร่วมกัน คือน้ำขึ้นลงเวลานี้ขึ้นในแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นจนเลยนนทบุรีเลยปทุมธานีไปเกือบถึงอยุธยา เวลาน้ำขึ้นก็ขึ้นไปถึงโน่น เวลาน้ำลงก็ลงไปในทะเลแถวเทเวศร์เวล